คนไทยเห่อ ‘มิวสิค เฟสติวัล’ จ่ายต่อทริป 5,000 บาทยังไหว

“ธุรกิจอีเวนท์” โดนโควิดซัดน่วมตลอด 2 ปีของการระบาดไวรัส กระทั่งครึ่งปีหลัง 2565 การปลดล็อกหลายด้านเกิดขึ้น

ทำให้ผู้ประกอบการหันมาลุยงานโชว์บิส คอนเสิร์ต มิวสิค เฟสติวัล งานแสดงต่างๆ เต็มสูบ สถานการณ์อีเวนท์ โดยเฉพาะคอนเสิร์ต โชว์บิส ล่าสุดเป็นอย่างไร ป๋าเต็ด ยุทธนา บุญอ้อม รองกรรมการผู้อำนวยการอาวุโส หน่วยงานโชว์บิซ บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) ขึ้นเวที iCreator พร้อมเล่าเคล็ด(ไม่)ลับในการจัดอีเวนท์ให้โดนใจกลุ่มเป้าหมาย

ก่อนรู้เทคนิคปั้นแบรนด์อีเวนท์ โชว์บิส คอนเสิร์ตดึงคน มาดูภาพรวมอีเวนท์ปี 2565 ใกล้กลับสู่ภาวะปกติเหมือนปี 2562 ช่วงยังไม่เจอวิกฤติโรคระบาด ส่วนปีหน้าการฟื้นตัวเริ่มเห็นเต็มที่ หนึ่งในภาพสะท้อนคือผลการดำเนินงานธุรกิจโชว์บิสของแกรมมี่ ที่ทำเงินแตะ 3,786 ล้านบาท ลดลง 34% เทียบปี 2562

ธุรกิจมีอะไรบ้าง

ตัวเลขยัง “ติดลบ” แต่นี่เป็นการทำรายได้หลังจากคิกออฟโชว์บิสตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2565 เท่านั้น หรือระยะเวลาเคลื่อนธุรกิจเพียง 5 เดือนเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ช่วงพีคของรายได้เกิดขึ้นปี 2562 อยู่ที่ 5,072 ล้านบาท เติบโต 22%

เวลานี้โชว์บิสจัดเยอะแค่ไหน? ป๋าเต็ด เล่าว่า คอนเสิร์ตไทย เทศตบเท้ามา “ชิงเงิน” ในกระเป๋าผู้บริโภคอย่างคึกคัก เทียบการแย่งขุมทรัพย์ปี 2565 เป็นดังนี้ ไทยครองเม็ดเงินมูลค่า 1,498 ล้านบาท เอเชีย(เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น) 1,228 ล้านบาท และอินเตอร์เนชั่นแนลหรือตะวันตก 1,060 ล้านบาท จริงๆหมวดเอเชีย แทบจะเป็น “เกาหลีใต้” ทั้งหมด และการแซงโชว์บิสอินเตอร์ฯ เกิดขึ้นอีกครั้งในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา

ขณะที่ตารางอีเวนท์ตั้งแต่สิงหาคม เรียกว่าอัดแน่นมากด้วยจำนวน 65 งาน กันยายน 63 งาน ตุลาคม 64 งาน พฤศจิกายน 41 และธันวาคม 32 งาน

“เมื่อโควิดคลี่คลาย รัฐผ่อนปรนมาตรการต่างๆ การจัดอีเวนท์ คอนเสิร์ตต่างๆจึงพุ่งพรวดทันที”

แม้คอนเสิร์ตจะล้นหลาม แต่ภูมิทัศน์สื่อเปลี่ยน กระเทือนถึงพฤติกรรมผู้บริโภคในการเสพคอนเทนท์ การจัดคอนเสิร์ตของ “ศิลปินเดี่ยว” เหมือนในอดีตที่มีแทบทุกเดือน เริ่มมีบทบาทน้อยลง เพราะยุคนี้คนฟังเพลงหลากหลายแนวและมีกลุ่มก้อนหรือ Niche Market ของตัวเอง

ขณะที่เทศกาลดนตรีหรือ “มิวสิค เฟสติวัล” มีความร้อนแรงมากขึ้น และกลายเป็นเทรนด์ที่เติบโต ตัวอย่างแบรนด์ “บิ๊กเมาท์เท่น”

(Big Mountain Music Festival) ซึ่งจัดขึ้นมา 12 ปีแล้ว และปีนี้มีขึ้นระหว่างวันที่ 10-11 ธันวาคม 2565 ที่จังหวัดนครราชสีมา ทันทีที่เปิดขายบัตร เพียง 9 ชั่วโมง(ชม.) ก็ขายตั๋วจำนวน 90,000 ใบหมดเกลี้ยง และเป็นสถิติสูงสุด จากที่เคยทำไว้กว่า 60,000 ใบ

สาเหตุที่มิวสิค เฟสติวัล จะฮิตติดลมบน เนื่องจากเป็นเวทีที่รวบรวมศิลปินดังน้อยสุดไปจนถึงดังมากขึ้น อินดี้สุด และแมสหรือรู้จักมากสุด ไปรวมไว้ด้วยกันในงานเดียว ทำให้ผู้ชมเลือกดูได้ตามใจชอบ

ไฮไลท์ปีนี้ของ “บิ๊กเมาท์เท่น” ไม่เพียงมีศิลปินดัง แต่ยังเอาใจสายเฉพาะทางด้วยการดึง “ระเบียบวาทะศิลป์” มาโชว์ด้วย งานนี้จึงพลาดไม่ได้กับพันธมิตรร้านอาหารอย่าง “อาฟเตอร์ยำ” มาร่วมแจม เพราะขนาดเจ้าของอย่าง “แต๋ง อาฟเตอร์ยำ” ถึงกับประกาศจะไปเต้นหน้าเวทีเลยทีเดียว

นอกจากเวทีใหญ่ “บิ๊กเมาท์เท่น” ยังมีเวทีเล็ก ออกแบบเป็นกระท่อมให้ศิลปินที่มีแฟนคลับ หรือคนดูระดับ 500 คนด้วย

“เราต้องใช้เทคนิคในการจัดงานให้เหมาะกับสเกลของแต่ละศิลปิน เวที”

ป๋าเต็ด ยังมองด้วยว่า งานโชว์บิสขนาด “กลาง” อนาคตจะอยู่ยาก เพราะหากจัดแล้วไลน์อัพศิลปินขึ้นเวทีน้อยสู้เวทีใหญ่ไม่ได้ หรือ “ราคาบัตร” ใกล้เคียง แต่ศิลปินน้อยกว่า ย่อมเกิดการเปรียบเทียบ ที่สุดจะ “เสียเปรียบ” ในเกมการแข่งขัน

“อนาคตจะเป็นเวทีของผู้เล่นรายใหญ่หรือรายเล็กไปเลย รายกลางอยู่ยาก”

กระแสมิวสิค เฟสติวัล ไม่เพียงมีแบรนด์ไทยที่ปัง! โดนใจกลุ่มเป้าหมาย แต่ผู้ประกอบการอีเวนท์ยังซื้อแบรนด์ระดับโลกมาสร้างปรากฏการณ์ในตลาดด้วย หนึ่งในนั้นคือ “Rolling Loud” เทศกาลดนตรี ฮิปฮอปสุดยิ่งใหญ่ระดับโลกจากสหรัฐฯ ที่จะมาบุกตลาดเอาใจแฟนๆชาวไทย